MU-OU:CRC & OU:CRS

หน่วยความร่วมมือการวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งมหาวิทยาลัยมหิดลและมหาวิทยาลัยโอซาก้า

หน่วยความร่วมมือการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพ และเทคโนโลยี ชีวภาพแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยโอซาก้าหรือ MU-OU:CRC ถูกก่อตั้งขึ้น ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลเมื่อปี พ.ศ. 2545 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการวิจัย สหสาขาทางวิทยาศาสตร์ชีวภาพและเทคโนโลยีชีวภาพ โดยประวัติความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยโอซาก้า และมหาวิทยาลัยมหิดลได้เริ่มต้นขึ้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 ภายใต้โครงการความร่วมมือในระบบมหาวิทยาลัยแม่ข่าย (Core University System) ซึ่งเป็นโครงการแลกเปลี่ยนทางวิชาการในสาขาเทคโนโลยีชีวภาพ ที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์การส่งเสริมวิชาการแห่งประเทศญี่ปุ่น (Japan Society for the Promotion of Science) (JSPS) หลังจากโครงการดังกล่าวประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี มหาวิทยาลัยทั้งสองจึงได้พัฒนาความร่วมมือทางวิชาการ และการวิจัยด้านเทคโนโลยีชีวภาพต่อไปอีกก้าวหนึ่ง ด้วยการจัดตั้งหน่วยความร่วมมือ การวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพและเทคโนโลยีชีวภาพ แห่งมหาวิทยาลัยมหิดลและมหาวิทยาลัยโอซาก้า (MU-OU:CRC) ขึ้น พร้อมกับเปิดสาขาต่างประเทศของหน่วยความร่วมมือการวิจัย สำหรับประเทศในตะวันออกเฉียงใต้ ศูนย์นานาชาติด้านเทคโนโลยีชีวภาพแห่งมหาวิทยาลัยโอซาก้า (CRS, ICBiotech, Osaka University) ขึ้นในประเทศไทยเป็นแห่งแรก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมนวัตกรรมและพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยเน้นที่งานวิจัยและการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีชีวภาพ เพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

หน่วยความร่วมมือการวิจัยสำหรับประเทศในตะวันออกเฉียงใต้ ศูนย์นานาชาติด้านเทคโนโลยีชีวภาพแห่งมหาวิทยาลัยโอซาก้า

ศูนย์นานาชาติด้านเทคโนโลยีชีวภาพแห่งมหาวิทยาลัยโอซาก้า (ICBiotech, Osaka University) ได้ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2521 ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ICBiotech ได้มีการดำเนินงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการจัดตั้งโครงการความร่วมมือทางด้านงานวิจัยและ สนับสนุนการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยตัวอย่างโครงการความร่วมมือที่ได้ดำเนินงานมากว่า 30 ปี ได้แก่ UNESCO International Post-graduate University Course in Microbiology จากโครงการดังกล่าวให้ผลผลิตเป็นนักวิจัยชาวเอเชียที่ผ่านการอบรม ฝึกฝนแล้วเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ สืบเนื่องจากความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น ทางด้านการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ของประเทศญี่ปุ่นและประเทศในภูมิภาค อันได้แก่ ประเทศไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และ มาเลเซีย ศูนย์ ICBiotech ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานหลักในโครงการ Core University Program ขององค์การส่งเสริมวิชาการแห่งประเทศญี่ปุ่น ทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพ

ด้วยความสนับสนุนของมหาวิทยาลัยโอซาก้า ปัจจุบัน ICBiotech ได้จัดตั้งสาขา ณ ต่างประเทศขึ้นเป็นแห่งแรก ในนามของ “หน่วยความร่วมมือการวิจัยสำหรับประเทศในตะวันออกเฉียงใต้ ศูนย์นานาชาติด้านเทคโนโลยีชีวภาพแห่งมหาวิทยาลัยโอซาก้า” (CRS, ICBiotech, Osaka University) โดยมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 23 ธันวาคม 2545 และ มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน